วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

วงศ์ปลานกแก้ว

วงศ์ปลานกแก้ว (อังกฤษ: Parrotfish) เป็นปลาทะเลกระดูกแข็งในวงศ์ Scaridae ในอันดับปลากะพง (Perciformes)
เป็นปลาที่มีขนาดโตเต็มที่มีประมาณ 30-70 เซนติเมตร มีลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับปลาในวงศ์ปลานกขุนทอง (Labridae) อาศัยอยู่ตามแนวปะการังเขตร้อนและเขตอบอุ่น ในน่านน้ำไทยพบได้ในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พบมากกว่า 20 ชนิด เป็นปลาที่มีฟันแหลมคมคล้าย ๆ จะงอยของนกแก้วอันเป็นที่มาของชื่อเรียก จะงอยปากยืดหดได้ เกล็ดมีขนาดใหญ่ เส้นข้างลำตัวขาดตอน ครีบหางกลมมนหรือตัดตรง เป็นปลาที่กินฟองน้ำ, ปะการังหรือสาหร่ายเป็นอาหาร บ่อยครั้งจะพบรวมฝูงขณะหาอาหาร เวลาว่ายนำจะดูสง่างามเหมือนนกกำลังบินในอากาศ
ปลานกแก้วเป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม โดยปลาตัวผู้จะมีสีสันสวยงามปลาตัวเมีย ลำตัวรียาว ส่วนใหญ่มีครีบหางแบบเว้าโดยขอบบนและขอบล่างของครีบหางมักยื่นยาวออก มีฟันคล้าย ๆ จะงอยปากนกแก้วเพื่อนำมาใช้ขูดกินปะการัง และมีฟันอีกชุดในคอหอยด้วย ซึ่งเมื่อกัดแทะนั้นจะเกิดเป็นเสียง เวลาถ่ายจะถ่ายออกมาเป็นผงตะกอนซึ่งมีประโยชน์ต่อแนวปะการัง สามารถเปลี่ยนเพศได้ ออกหากินในเวลากลางวัน นอนหลับในเวลากลางคืน เมื่อนอนปลานกแก้วจะนอนตามซอกหินแล้วปล่อยเมือกออกมาห่อหุ้มร่างกายเพื่อป้องกันอันตรายจากพวกสัตว์ทะเลต่าง ๆ เช่น พวกหนอนพยาธิหรือปรสิตที่จะมาทำร้ายหรือมารบกวน                                      




ปลานกแก้วหัวโหนก (อังกฤษ: Bumphead parrotfish, Green bumphed parrotfish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Bolbometopon muricatum) เป็นปลากระดูกแข็งทะเลชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ปลานกแก้ว (Scaridae) ถือเป็นปลานกแก้วมีขนาดใหญ่ที่สุด [2] โดยมีขนาดใหญ่ได้ถึง 1 เมตร หรือ 1.3 เมตร น้ำหนักได้ถึง 46 กิโลกรัม และมีอายุยืนยาวได้นานถึง 40 ปี มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลานกขุนทองหัวโหนก (Cheilinus undulatus) ซึ่งอยู่ในวงศ์ปลานกขุนทอง (Labridae) และถือเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Bolbometopon[3]
โดยมีลักษณะเด่น คือ บริเวณหน้าผากโหนกหนาแข็งแรง ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกันชนเวลาที่เข้ากัดกินหินหรือปะการังแข็ง ๆ เพื่อกินเป็นอาหาร ปากและฟันหน้าใหญ่แข็งแรง ติดกันเป็นพรืดเหมือนกันกับปลานกแก้วชนิดอื่นทั่วไปไม่เป็นซี่ ๆ เหมือนสัตว์ทั่วไป ลักษณะของปากและฟันเช่นนี้ทำให้ถูกเปรียบเทียบว่าคล้ายกับจะงอยปากของนกแก้ว อันเป็นที่มาของชื่อ มีลำตัวทั่วไปสีเขียว
ปลานกแก้วหัวโหนกเป็นปลาที่อยู่อาศัยหากินรวมกันเป็นฝูง ตามแนวปะการัง ในฝูงหนึ่งประมาณ 13-14 ตัว ออกหากินในเวลากลางวัน และเข้านอนตามซอกหลืบถ้ำหรือตามซากเรือจมในเวลากลางคืน ในระดับความลึกไม่เกิน 30 เมตร
พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก, ทะเลแดง, ซามัว จนถึงนิวแคลิโดเนียและเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ในออสเตรเลีย สำหรับน่านน้ำไทย ถือเป็นปลาที่พบได้น้อย หายาก จึงมักเป็นที่ชื่นชอบของนักประดาน้ำเพื่อถ่ายรูปเช่นเดียวกับปลานกขุนทองหัวโหนก โดยอาจพบได้ที่เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันและหมู่เกาะสุรินทร์แต่ก็ไม่บ่อยนัก และจำนวนก็ไม่มาก ครั้งละ 3-4 ตัวเท่านั้น
แต่สำหรับที่เกาะเซปาดัง ในมาเลเซีย และเกาะบอร์เนียว ในอินโดนีเซียจะพบได้ง่ายกว่า



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น